วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประมงพื้นบ้านสงขลาเตรียมฟ้อง “นิวคอสตอล” หยุดเจาะน้ำมันเฟส2

ชาวประมงอวนลากเล็กและประมงพื้นบ้าน 6 อำเภอชายฝั่งจังหวัดสงขลา กว่า 300 คน มีมติให้ฟ้องศาลปกครองในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อขอให้คุ้มครองที่ทำกินแหล่งสุดท้าย ก่อนบริษัทนิวคอสตอลที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันจะขยายการขุดเจาะเฟส 2 ห่างจากฝั่ง 13 ก.ม.

จากกรณีชาวประมงอวนลากเล็กและประมงพื้นบ้าน 6 อำเภอชายฝั่งจังหวัดสงขลา กว่า 300 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขุดเจาะน้ำมันบริเวณชายฝั่งจังหวัดสงขลา ของบริษัทนิวคอสตอล(ประเทศไทย) จำกัด ทำให้สูญเสียที่ทำมาหากินมากว่า 2 ปี และกำลังขยายโครงการ 2 เข้ามาใกล้ชายฝั่ง 13 กิโลเมตร ออกมารวมตัวกันลงประชามตินำเรื่องความเดือดร้อนของชาวประมงฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้คุ้มครองที่ทำกินแหล่งสุดท้ายของชาวประมงและให้ระงับการขยายการขุดเจาะน้ำมันเฟส 2 ของบริษัทนิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ที่จะทำการขุดเจาะน้ำมันบริเวณชายฝั่ง เนื่องจากประสบปัญหาสัตว์น้ำทุกชนิดลดน้อยลงเป็นจำนวนมาก สาเหตุจากมลพิษที่ออกมาจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน

วันที่ 21 พ.ค.54 เวลา 08.00 น. ณ ที่ทำการกลุ่มประมง กลุ่มนายบุญช่วย รวมใจ เลขที่ 55/2 หมู่ที่ 1 ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา นายบุญช่วย ฟองเจริญ แกนนำเรือประมงอวนลากเล็ก และตัวแทนเรือประมงอวนลากเล็กและเรือประมงพื้นบ้าน จาก อ.เมือง อ.สิงหนคร อ.จะนะ อ.เทพา อ.ระโนดและ อ.สทิงพระ จ.สงขลา กว่า 300 คน ได้เดินทางมารวมกันเพื่อร่วมปรึกษาหารือ หลังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการออกไปทำการประมงในทะเลในพื้นที่ อ.สทิงพระ ซึ่งมีการขุดเจาะน้ำมันของบริษัทนิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ปริมาณสัตว์น้ำทุกชนิดลดลง เนื่องจากสภาพน้ำบริเวณแท่นขุดเจาะอาจเกิดมลพิษ ส่งผลกระทบกับชาวประมงขนาดเล็กมาเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ทางบริษัทฯเข้ามาขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่ง อ.สทิงพระ จ.สงขลา และกำลังขยายฐานเฟส 2 มาใกล้ชายฝั่ง 13 กิโลเมตร บริเวณเกาะหนูเกาะแมวของจังหวัดสงขลา

โดยในการร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ ทุกคนได้มีประชามติร่วมกันที่จะนำเรื่องความเดือดร้อนของชาวประมงฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองที่ทำกินแหล่งสุดท้ายของชาวประมงและให้ระงับการขยายการขุดเจาะน้ำมันเฟส 2 ของบริษัทนิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ที่จะทำการขุดเจาะน้ำมันบริเวณชายฝั่ง 13 กิโลเมตร ออกไปให้พ้นจากชายฝั่งที่ทำกินแหล่งสุดท้ายของชาวประมง

เนื่องจากที่ผ่านมา ชาวประมงอวนลากเล็กและเรือประมงพื้นบ้าน ได้เข้าพบและยื่นหนังสือต่อนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ขอให้ระงับการขุดเจาะน้ำมันเฟส 2 ของบริษัทนิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ที่จะทำการขุดเจาะน้ำมันบริเวณชายฝั่ง 13 กิโลเมตรไว้ก่อน แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ทางชาวประมงซึ่งได้รับความเดือดร้อน จึงจำเป็นต้องพึ่งตัวเองไม่หวังพึ่งทางจังหวัดอีกต่อไป มารวมตัวกันเพื่อลงชื่อขอพึ่งศาลปกครองเป็นที่สุดท้าย

“วันนี้ที่มารวมตัวกันเพื่อมาชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวประมงที่เข้ามาร่วมกันในกลุ่มผม ซึ่งทางกลุ่มได้ทำการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควรจะได้รับ และพื้นที่ทำการประมงผืนสุดท้ายของพวกเรา ตอนนี้ทางบริษัทนิวคอสตอล(ประเทศไทย)จำกัด เข้ามาเอา 3 - 4 ฐานแล้ว พวกเราจนปัญญาที่จะต่อต้านแล้ว ได้ขอเสนอเลิกอาชีพเลิกเรือประมง โดยให้ทางบริษัทรับซื้อเรือประมง เพื่อยุติปัญหาต่างๆ อยากให้ทางภาครัฐช่วยไกล่เกลี่ยให้ด้วย เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในจังหวัด” นายบุญช่วยกล่าว

วันนี้มีชาวประมงทั้งเรือประมงอวนลากเล็ก เรือประมงพื้นบ้าน เรือปั่นไฟ เรืออวนลอย 6 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อำเภอเมือง สิงหนคร จะนะ เทพา ระโนด และอำเภอสทิงพระ โดยมีการลงประชามตินำเรื่องร้องทุกข์ต่อศาลปกครอง ขอความช่วยเหลือในเรื่องที่ทำกินผืนสุดท้าย ขณะนี้มีเรือประมงทั้งหมดที่มาเข้าร่วมกันประมาณเกือบ 400 ลำแล้ว โดยเรียกร้องอยากจะให้ทางบริษัทฯ เลิกสัมปทานในการขุดเจาะแนวตื้น ให้ไปขุดเจาะข้างนอกออกไปที่เรือประมงขนาดเล็กออกไปทำการประมงไม่ถึง เหมือนฐานขุดเจาะอื่นๆ เพราะ 3 - 4 ปี ที่ผ่านมา พวกตนรับไม่ไหวอยากจะเลิกเต็มทีแล้ว กรุณาช่วยซื้อรับเรือประมง เพราะพวกตนไม่มีกำลังที่จะไปต่อต้านถึงขั้นที่จะให้ทางบริษัทฯยกฐานออกได้ เพียงแค่ขอร้องให้เห็นใจชาวประมงซึ่งเป็นรากหญ้า ที่หาเช้ากินค่ำเลี้ยงครอบครัวส่งให้ลูกเรียน ตอนนี้ไม่มีเงินส่งให้ลูกเรียนแล้ว 3- 4 ปี ที่ผ่านมา เงินเยียวยาที่ทางภาคหลวงให้มาก็ไม่คุ้มกับความเป็นจริงที่ได้รับ ตอนนี้ค่าใช้จ่ายในการออกเรือขาดทุนคืนละพันกว่าบาท เพราะต้นทุนเรืออวนลากขนาดเล็ก อย่างต่ำก็ประมาณ 4,000 บาท หากเป็นเรือขนาดใหญ่ขึ้นมาอีก ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มทวีคูณขึ้นมาอีก เป็น 4,500 - 5,000 บาท ส่วนเรือปั่นไฟคืนหนึ่ง 7,000 - 8,000 บาท ตอนนี้สัตว์น้ำไม่มีให้จับเป็นเพราะแท่นขุดเจาะน้ำมัน

“เมื่อก่อนพวกผมอยู่กันอย่างสงบ ไม่มีความเดือดร้อน ฐานขุดเจาะเข้ามา 3 - 4 ปี พวกผมเดือดร้อนอย่างหนัก หาทางออกไม่ได้ อยากให้ช่วยเยียวยาให้สมกับที่พวกผมเดือดร้อนจริงๆผมพร้อมให้ตรวจสอบทุกอย่าง สำหรับการนำเรื่องร้องทุกข์ต่อศาลปกครองขณะนี้ทางทนายความกำลังดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งมีการตั้งตัวแทนชาวประมง จาก 6 อำเภอ จำนวน 7 คน ไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองประมาณต้นเดือนกรกฏาคม 2554 และชาวประมงทั้งหมดกว่า 300 คน ก็จะไปรวมตัวกันที่หน้าศาลปกครองด้วยเพื่อขอความเห็นใจจากทางศาลปกครอง” นายบุญช่วยกล่าว

ข้อมูลจาก...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: