วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คกก.สิทธิฯ เตรียมบี้ ศอ.บต.เบรกแจก ส.ป.ก.บีบชาวบ้านปล่อยที่สร้างด่านสะเดา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรียกหน่วยงานราชการชี้แจงกรณีชาวบ้าน ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ร้องเรียนโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ทับที่ทำกินของชาวบ้านกว่า 700 ไร่ ก่อนเตรียมทำหนังสือให้ ศอ.บต.ชี้แจงกรณีขอความร่วมมือให้จังหวัดชะลอแจก ส.ป.ก.4-01 เพื่อบีบให้ชาวบ้านยินยอมสละสิทธิ์ที่ดินให้ศุลกากร และเจรจารับเงินชดเชยได้ง่ายขึ้น พร้อมขอให้ศุลกากรพิจารณาพื้นที่เหมาะสมอื่น ที่ลดผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิชุมชน
      
       
วันที่ 14 ก.ค.54 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.สงขลา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เปิดประชุมรับฟังการชี้แจงระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้าน ม.7 ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างด่านชายแดนสะเดาแห่งใหม่ ไทย-จังโหลน ตามมติ ครม. ซึ่งทับพื้นที่ทำกินของราษฎรจำนวน 38 ครอบครัว จำนวน 720 ไร่ อีกทั้งจังหวัดสงขลาชะลอการมอบเอกสารสิทธิหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ให้กับชาวบ้าน โดยได้มีการส่งหนังสือร้องเรียกคณะกรรมการสิทธิฯ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2552
      
       
ก่อนหน้านี้จังหวัดสงขลาได้แต่งตั้งกรรมการจังหวัดจำนวน 4 ชุด เพื่อติดตามความคืบหน้าและแก้ไขปัญหา และมีนายอำเภอสะเดาเจรจาค่าชดเชย โดยมีสำนักอัยการจังหวัดนาทวีเข้ามาไกล่เกลี่ยอีกทางหนึ่ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากชาวบ้านไม่ยอมรับในอัตราการจ่ายค่าอาสิน และไม่ไว้วางใจในกระบวนการของรัฐจนเกิดการต่อต้าน เช่น การไม่ยอมเซ็นชื่อ ไม่เจรจากับรัฐเป็นรายบุคคล ทำให้กระบวนการไกล่เกลี่ยยิ่งเพิ่มปัญหาด้านลบต่อทัศนคติระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย
      
       
นายอาทิตย์ วิสุทธิสมาธาร ผู้ช่วยนายด่านศุลกากรสะเดา กล่าวว่า ภายหลังจากที่สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรอนุญาตในหลักการที่จะขยายด่านศุลกากรแห่งใหม่ โดยใช้พื้นที่จำนวน 720 ไร่ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านใช้ประโยชน์ทั้งเป็นที่อยู่อาศัย ประกอบอาชีพ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องให้ชาวบ้านเห็นชอบและสละสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. โดยให้กรมศุลการจ่ายค่าชดเชยผลอาสินและเงินเยียวยา แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับในการชดเชยค่าต้นไม้ที่มีการปลูกในสวนว่ามีอัตราที่ต่ำเกินไป
      
       
ทั้งนี้ การประชุมที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้เสนอให้ย้ายด่านศุลกากรแห่งใหม่ไปที่บ้านปาดังเบซาร์ซึ่งมีเนื้อที่ 4,500 ไร่ โดยจุดศูนย์กลางที่บ้านทับโกบ ห่างจากบ้านไทย-จังโหลนอีก 10 ก.ม.เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อชาวบ้าน แต่ความเห็นของศุลกากรพบว่าเป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว และเชื่อมต่อกับประเทศมาเลเซียได้ยาก เนื่องจากฝั่งตรงข้ามเป็นรัฐเคดาห์ที่มาเลเซียไม่มีนโยบายขยายด่านที่นั่น แต่ได้พัฒนาด่านในรัฐเปอร์ลิสไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตรงกับฝั่งไทยในพื้นที่ของชาวบ้านที่กำลังมีปัญหานั่นเอง
      
       
นางชุลีกร ดิษโสภา ชาวบ้านและตัวแทนเจ้าของที่ดิน กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ชาวบ้านทั้ง 38 ครอบครัวได้ทำมาหากินบนพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ และไม่ต้องการให้รัฐนำไปประโยชน์ในการขยายด่านศุลกากรแห่งใหม่ เพราะจะทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ความสุขและอุดมสมบูรณ์จากการประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างปกติสุขล่มสลาย แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐได้เข้ามาเจรจาเรื่องการชดเชยผลอาสิน ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถยอมรับได้เพราะต้องการสืบทอดที่ทำกินไว้ให้กับรุ่นลูกหลานต่อไป
      
       
ต่อมาคณะกรรมการสิทธิฯ ได้ซักถามถึงประเด็นที่มีการชะลอแจกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ให้กับชาวบ้านในระหว่างที่เจรจาให้ชาวบ้านสละสิทธิให้ศุลการนำไปสร้างด่าน โดยอ้างว่าจะเป็นปัญหายุ่งยากในการจ่ายค่าชดเชยนั้น นายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ชี้แจงว่า ทางจังหวัดมีนโยบายที่จะชะลอการให้ ส.ป.ก. โดยเป็นการขอความร่วมมือของ ศอ.บต. และ อบจ.สงขลาก็มีมติสอดคล้องกัน เพราะเกรงว่าเจรจาจ่ายค่าชดเชยจะยากขึ้น และป้องกันความผิดกฎหมายอาญาตามมาตรา 157
      
       
ในประเด็นนี้ กรรมการสิทธิฯ มีความเห็นว่า การสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ระหว่างการตกลงระหว่างรัฐและชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินว่าจะยินยอมให้ใช้ที่ดินหรือไม่ แต่รัฐไม่ควรใช้การให้ ส.ป.ก.เป็นข้อต่อรอง และเหตุผลที่ระบุในหนังสือราชการนั้นส่อในทางมีอคติ ต้องการบีบบังคับให้ชาวบ้านยินยอม จึงควรปล่อยให้การมอบเอกสารสิทธิ์ สปก.เดินหน้าตามกระบวนการ เพราะเป็นสิทธิของชาวบ้านที่ควรจะได้รับ และจะเป็นทางออกหนึ่งให้ชาวบ้านรู้สึกเป็นมิตรกับรัฐมากขึ้น
      
       
ทั้งนี้ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวสรุปก่อนปิดการประชุมชี้แจงว่า คณะกรรมการสิทธิฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิของชุมชน และรัฐก็ควรตระหนักเพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับ ซึ่งหากชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิ์แล้ว ก็สามารถที่จะฟ้องรัฐได้เหมือนกัน
      
       
ในกรณีนี้ ชาวบ้านก็ควรจะได้รับมอบ ส.ป.ก.ตามสิทธิ โดยไม่เกี่ยวข้องว่าจะมีการสร้างด่านแห่งใหม่หรือไม่ อีกทั้งเสียงของชาวบ้านที่ปฎิเสธไม่ยอมให้ศุลการใช้พื้นที่ก็ทำได้เช่นกัน เพราะชาวบ้านย่อมมีสิทธิในการตัดสินชะตาชีวิตของตัวเอง ดังนั้น ศุลกากรต้องหันมาทบทวนตั้งแต่ต้นแล้วว่า การสร้างด่านที่นั่นมีปัญหา จะหาพื้นที่อื่นได้หรือไม่ที่ไม่กระทบและละเมิดสิทธิชุมชน วิถีชีวิตของชาวล้าน และนับจากนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ ได้ติดตามการทำงานของ ศอ.บต. (ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันนี้) ที่ต้องการใช้ชะลอการมอบ ส.ป.ก.กับชาวบ้าน ทั้งที่ควรจะเป็นหน่วยงานส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ สังคม และลดความขัดแย้งให้กับพื้นที่ โดยจะทำหนังสือให้ชี้แจงกรรมการสิทธิฯ ในเร็ววันนี้
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: