วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ปี 55 “หมู” เข้ายุคขาลง คาดอืดทั้งปี

ภาวะธุรกิจการเลี้ยงสุกรปี 2555 ถดถอยราคาดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ผู้เลี้ยงตกอยู่ในภาวะขาดทุน แนวโน้มผู้ค้ารายย่อยเสี่ยงล้มเพียบ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้เสนอรัฐนำเข้าโครงการประกันราคาเหมือนประกันข้าว       
       
นายวิชัย มงคล อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาวะธุรกิจการเลี้ยงสุกรขณะนี้ค่อนข้างที่จะถดถอยราคาได้ดิ่งลงมาอย่างต่อ เนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงขณะนี้ ราคาสุกรมีชีวิตอยู่ที่ 48 บาท-52 บาท/กก. และมีแนวโน้มว่าในเดือนเมษายน 2555 นี้ ราคาจะถอยลงมาอยู่ที่ 45 บาท/กก. ขณะที่ราคาต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 55-58 บาท วัตถุดิบปลายข้าวขึ้นมาอยู่ที่ 15 บาท/กก. รำข้าว 12 บาท/กก. ยังไม่นับค่าแรง ค่าเสื่อม และดอกเบี้ย
      
       “ในตอนนี้ผู้เลี้ยงสุกรอยู่ในช่วงที่ประสบกับภาวะขาดทุน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาสุกรถดถอยลงมาเพราะการบริโภคต่ำลงด้วยกำลังซื้อของ ประชาชนไม่ดี เพราะไม่ได้กรีดยางพารา จากฝนตกยาว มีผลกระทบไปทั่ว ส่วนพฤติกรรมการบริโภคก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ขณะนี้การบริโภคลดไปครึ่งต่อครึ่ง ในขณะที่ผู้เลี้ยงมีจำนวนการขยายตัวในการเลี้ยงมากขึ้น เช่นเลี้ยง 200 แม่ เพิ่มเป็น 500 แม่
      
       นายวิชัยยังกล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาราคาให้มีเสถียรภาพได้หารือกับเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน และนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติแล้ว แต่ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด คือให้รัฐบาลใช้ล้อของนโยบายการประกันราคาข้าว ในการประกันราคาสุกร โดยรัฐบาลสนับสนุนชดเชยราคาที่ขายขาดทุน อย่างต้นทุนการผลิตสุกร 52 บาท/กก. แล้วขายสุกรได้ 48 บาท/กก. ขาดทุนที่ 4 บาท รัฐบาลจะต้องชดเชยให้ แต่หากราคาสุกรขยับราคาขึ้น ก็ให้มีกำไรเพียง 10 และ 20 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุน
      
       ซึ่งได้พูดคุยกันโดยเจ้าหน้าที่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทำ หนังสือยื่นเสนอต่อรัฐบาล แต่จะไม่สามารถเสนอโดยสมาคมสุกรได้ เพราะสมาคมสุกรทั้งภาคใต้ และแห่งประเทศไทย ไม่ใช่ของเกษตรกรรายย่อย แต่เป็นนักลงทุนขนาดใหญ่ สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้มีไม่เกิน 100 แม่ และหากมีเกิน 100 มี 200-300 แม่ ก็ลงทะเบียนเข้าสู่โครงการประกันราคาได้เพียง 100 แม่เท่านั้น
      
       นายวิชัยยังกล่าวอีกว่า สำหรับในจังหวัดพัทลุง ขณะนี้มีผู้เลี้ยงสุกรประมาณ 30 ราย ขนาด 100-200 และ 300 แม่พันธุ์ ไม่นับบริษัทใหญ่ ที่มีอยู่จำนวน 3 บริษัท ส่วนรายใหญ่อยู่ที่จังหวัดตรัง และนครศรีธรรมราช เลี้ยงขนาด 2,000-3,000 แม่พันธุ์ ระดับนี้มูลค่าการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท จะหารือกับกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ และกับสมาคม เพื่อดำเนินการยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้ทำการสนับสนุนช่วยเหลือ
      
       อย่างไรก็ตาม สำหรับราคาสุกรแนวโน้มในปีนี้ราคาจะอืดมาก และมีแนวโน้มราคาอาจจะอืดตลอดทั้งปีหากเป็นเช่นนี้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยจะ ต้องมีผลกระทบและล้มลงอย่างเลี่ยงไม่พ้น
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: