วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

“ธ.อิสลาม” เปิดสินเชื่อรถสาธารณะ หนุนแท็กซี่มิเตอร์ครั้งแรกใน จ.สงขลา


ธนาคารอิสลาม หรือไอแบงค์ สานต่อนโยบายรัฐเปิดตัวโครงการสินเชื่อส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถ สาธารณะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งเป้าวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท พร้อมเปิดตัวรถแท็กซี่มิเตอร์อย่างเป็นทางการครั้งแรกใน จ.สงขลา
      
       วันที่ 3 มี.ค.55 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงค์ จัดงานเปิดตัวโครงการสินเชื่อส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะใน พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเป็นทางการ โดยมีนายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และนายก่อเกียรติ วงศ์อารี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นประธานในพิธี
           นายก่อเกียรติ วงศ์อารี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ไอแบงค์ได้สานต่อนโยบายรัฐบาลการสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการใน พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.สงขลา จ.สตูล จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ภายใต้โครงการสินเชื่อส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพรถสาธารณะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตั้งเป้าวงเงินสินเชื่อไว้ที่ 5,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการให้บริการรถสาธารณะให้มีมาตรฐาน สนับสนุนผู้ประกอบอาชีพและประชาชนผู้รับบริการให้ได้รับความสะดวกสบายและ บริการที่ดีขึ้น พร้อมลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบอาชีพให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ขึ้นด้วย
      
       โดยแบ่งสินเชื่ออกเป็น 2 ประเภท คือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะในการเช่าซื้อรถเก่าและรถ ใหม่ แบ่งเป็นประเภทรถได้แก่ รถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์ รถตู้โดยสารปรับอากาศ รถโดยสารสองแถว และรถโดยสาร 3 ล้อ และ 4 ล้อเครื่อง และสินเชื่อวงเงินเอนกประสงค์เพื่อใช้ในการซ่อมแซมรถตามราคาที่จ่ายจริง ทั้งนี้ ให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 100% คิดอัตรากำไรเพียง 1.5% ต่อปี และสามารถผ่อนชำระได้นาน 7 ปี โดยสามารถขอรับบริการสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 มิถุนายน นี้
           ด้าน นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในนามประชาชนชาวจังหวัดสงขลา รู้สึกดีใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเล็งเห็นถึง ศักยภาพของจังหวัดสงขลา และเลือกจังหวัดสงขลาเป็นหนึ่งในโครงการนี้ ซึ่งจะทำให้ชาวจังหวัดสงขลามีทางเลือกในการประกอบอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งเป็นช่องทางหนึ่งที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย
          ขณะเดียวกัน นายสมบูรณ์ สุวรรณโณ พนักงานขับรถแท็กซี่มิเตอร์ 1 ใน 10 คัน แรกของ จ.สงขลา เปิดเผยว่า ตนชอบขับรถและรักงานบริการ โดยก่อนหน้านี้เคยขับรถรับส่งนักเรียนมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว พอมีโครงการนี้เกิดขึ้นก็ยอมขายรถส่วนตัวของตัวเองมาซื้อรถแท็กซี่ใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 คันแรกของ จ.สงลา โดยบริการครอบคลุมทุกอำเภอทั่วทั้ง จ.สงขลา
      
       ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต้องการเที่ยวใน จ.สงขลา ก็มาใช้บริการรถแท็กซี่ ไปทะเลสาบสงขลา ขี่แพยนต์ข้ามฟากไปทางหัวเขาแดง ไปคูขุด ไปไหว้พระวัดพะโคะ แล้วตีรถไปทางสะพานเฉลิมพระเกียรติ หัวป่า - ไสกลิ้ง นักท่องเที่ยวก็ชอบเพราะได้ชื่นชมธรรมชาติ และเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายในวันเดียวกัน
               “ตนเริ่มขับแท็กซี่มิเตอร์นี้มาตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ผลตอบรับดีมาก มีลูกค้าโทรศัพท์มาเรียกใช้บริการอย่างล้นหลาม ทั้งโทร.ไปที่ออฟฟิศ และโทร.หาแท็กซี่แต่ละคันเอง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน หรือไม่ก็นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปยังสนามบินหาดใหญ่ หรือสถานที่ต่างๆ ทั้งนี้ รับ-ส่งผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 3 - 4 รอบ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พอใจมากนายสมบูรณ์ กล่าว
      
       โดยค่าบริการคิดตามมิเตอร์ คือ 2 กิโลเมตรแรกอัตรา 30 บาท จากนั้นจะเพิ่มขึ้นครึ่งกิโลเมตรละ 2 บาท ส่วนในกรณีที่รถติดจะขึ้น 1 บาท นอกจากนี้ หากลูกค้าต้องการให้ไปส่งยังจังหวัดใกล้เคียงก็จะคิดราคาตามตารางที่บริษัท กำหนดไว้ และหากลูกค้าท่านใดต้องการเหมารถทั้งวันก็ได้เช่นกัน โดยเหมาจ่ายเป็นรายวัน
      
       นายสมบูรณ์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ปัญหากับรถสาธารณะอื่นๆ ที่มีข่าวว่าทับเส้นทางกันนั้นนั้น ก็มีบ้างเนื่องจากเขาไม่เข้าใจลักษณะการให้บริการของรถแท็กซี่มิเตอร์ ทั้งนี้ การเรียกใช้บริการรถสาธารณะนั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้บริโภคเป็นหลัก และในส่วนของรถแท็กซี่นี้ถ้าผู้บริโภคไม่โบกมือเรียกเราก็จะไม่จอดรับ เพราะเรามีเป้าหมายว่าผู้โดยสารเรียกให้เราไปรับที่ไหน หรือถ้าเปิดป้ายว่างก็จะขับไปด้วยมองหาลูกค้าไปด้วย แต่จะไม่มีการจอดแช่ตามจุดต่างๆ แน่นอน
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: