วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด ตร.ใช้ความรุนแรงสลายม็อบโรงแยกก๊าซจะนะ พิพากษาชดใช้ 1 แสน




ศาลปกครองสูงสุด ชี้ขาดกรณีตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุสลายการชุมนุมม็อบค้านโรงแยกก๊าซจะนะ หลังคดียืดเยื้อนาน 10 ปี ระบุ เป็นการชุมนุมโดยสงบ และเจ้าหน้าที่กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้อง 24 คน รวม 1 แสนบาท

            วันที่ 16 ม.ค.56  ที่ห้องพิจารณาที่ 2 ศาลปกครองจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ศาลปกครองจังหวัด ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีตำรวจสลายการชุมนุมของชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 ที่บริเวณถนนจุติอนุสรณ์ ใกล้โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ หรือโรงแรมหรรษาเจบีในปัจจุบัน เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุม ได้รับบาดเจ็บ รถยนต์ที่ใช้เป็นพาหนะได้รับความเสียหาย และไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้ต่อไป
      
       
โดยนายเจ๊ะเด็น อนันทบริพงศ์ ผู้ฟ้องที่ 1 กับพวก รวม 30 คน ได้ยื่นฟ้องสำนักงานตรวจแห่งชาติ จังหวัดสงขลา และกระทรวงมหาดไทย เรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานดังกล่าว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมตามมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่บังคับใช้ในขณะนั้น ซึ่งศาลปกครองจังหวัดสงขลา และศาลปกครองสูงสุดมีคำสังรับฟ้องเฉพาะผู้ฟ้องคดีที่ 1-24 ในส่วนที่เรียกค่าเสียหายการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเท่านั้น
            ทั้งนี้ ศาลปกครองจังหวัดสงขลาได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ.426/2549 ซึ่งพิจารณาว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 ซึ่งชาวบ้านเตรียมยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ต่อนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยมีกำหนดการเดินทางมาประชุม ครม.สัญจรที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ ในวันที่ 21 ม.ค.2545 ว่า เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
      
       
ส่วนกรณีที่สำนักงานตรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ โดยระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวชุมนุมกันเกิน 10 คน มีผู้สั่งการอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการตระเตรียมอาวุธทั้งที่เป็นอาวุธ และมิใช่อาวุธโดยสภาพ ซึ่งสามารถตรวจยึดหนังสติ๊ก ลูกตะกั่ว กรรไกรปลายแหลม มีดสปาต้า และไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลม 175 อันนั้น ศาลพิจารณาเห็นว่า การชุมนุมโดยใช้สิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญย่อมกระทำโดยคนเดียวไม่ได้ และไม่ปรากฏว่า แกนนำมีการสั่งการให้กลุ่มผู้ชุมนุมสั่งสมอาวุธ
      
       
ในขณะเดียวกัน ศาลเห็นว่าหนังสติ๊ก ลูกตะกั่ว และมีดสปาต้านั้นถือว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชุมนุม โดยเป็นอาวุธที่ผู้คัดค้านเตรียมมาเป็นการส่วนตัว มิได้มีการสั่งการจากแกนนำแต่งอย่างใด ส่วนไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมพบว่า ผู้ชุมนุมใช้เป็นเสาธง มิใช่อาวุธแต่เดิม แต่ได้ใช้เป็นอาวุธในเวลาต่อมาเมื่อตำรวจเข้าสลายการชุมนุม สำหรับการทำร้ายตำรวจ และทรัพย์สินของทางราชการนั้น เกิดจากการที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม และทำร้ายผู้คัดค้านจนบาดเจ็บ
      
       
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำตัดสินว่า การชุมนุมของชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 นั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบ และการที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมโดยมิได้ดำเนินการตามหลักสากลคือ จากเบาไปหาหนักจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพชุมนุมโดยสงบต่อไปได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) จึงต้องรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องที่ 1-24 โดยกำหนดให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องที่ 1-24 รวมกันจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
            นางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี ชาวบ้านใน อ.จะนะ จ.สงขลา หนึ่งในผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า วันนี้ ตนรู้สึกดีใจที่ชาวบ้านชนะคดี แต่เนื่องจากเวลายาวนานมาเป็น 10 ปีกว่าคดีจะสิ้นสุด จึงเป็นความดีใจที่แผ่วลงมาก การเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านตามรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิที่มีจริง แต่ปรากฏว่า เมื่อชาวบ้านจึงลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรในบ้านเกิด กลับถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม ชาวบ้านบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย วันนี้ ศาลพิพากษาให้รัฐจ่ายค่าเสียหายแก่ชาวบ้าน 24 คน รวม 100,000 บาท ซึ่งน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับความรู้สึกของชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำร้าย แต่ไม่ได้ติดใจตรงจำนวนเงิน วันนี้ตนรู้สึกพอใจกับคำพิพากษาที่เห็นความสำคัญของประชาชน ทั้งนี้ ก่อนที่ชาวบ้านจะคัดค้านต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเองให้ปราศจากมลพิษ และสิ่งเป็นพิษทั้งหลาย ชาวบ้านได้ศึกษาหาข้อมูลข้อเท็จจริงแล้วว่า มีผลกระทบต่อวิถีชีวิต และการประกอบอาชีพจึงมารวมตัวกันเพื่อชุมนุมคัดค้านอย่างสงบ
      
       “
ตนคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐรู้ข้อกฎหมายดีกว่าประชาชนมาก แต่เหตุการณ์ในวันนั้นเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคารพกฎหมาย ใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน เขารู้ว่าโดยหน้าที่เขาทำร้ายประชาชนไม่ได้ แต่เขาฮึกเหิมเนื่องจากเขาเห็นแก่นายทุน จึงมีการทำร้ายทุบตีชาวบ้าน และทำลายข้าวของ แม้แต่หม้อข้าวเขาถึงกับใช้เท้าเตะ เขาทำกับชาวบ้านเหมือนไม่ใช่มนุษย์ ครอบครัวของตนถูกทุบตี และต้องหนีไปอยู่ในป่านานถึง 18 เดือน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตามล่าโดยตั้งข้อหาว่าขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวม 8 ข้อหา และวันนี้เราได้พลิกมาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจนชนะคดีแล้ว
      
       
อยากฝากบอกกับพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ ว่า ถ้ามีนายทุนข้ามชาติเข้าไปในพื้นที่เพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว โดยที่ชาวบ้านจะต้องเผชิญกับมลพิษ สิ่งเป็นพิษ และหายนะต่างๆ ชาวบ้านมีสิทธิเสรีภาพที่จะออกมาปกป้องทรัพยากรของตนเองได้ตามกฎหมายที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ พอมีโครงการใหญ่ระดับชาติเข้ามาทำลายทรัพยากรในท้องถิ่น เราก็ใช้กฎหมายข้อนี้ปกป้องทรัพยากรของเราเอง ประชาชนย่อมมีสิทธิกำหนดทิศทางการพัฒนาในท้องถิ่นของตัวเองนางสุไรด๊ะกล่าว
ข้อมูลจาก.. ASTV Manager ภาคใต้

ไม่มีความคิดเห็น: