วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นครหาดใหญ่เดินหน้ายกฐานะสู่มหานครแห่งแรกภาคใต้

เทศบาลนครหาดใหญ่ ดึงนักวิชาการจากรั้ว มสธ.ศึกษารูปแบบการบริหาร "มหานครหาดใหญ่" เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาเมือง ซึ่งมีความเจริญเกินกว่าเกณฑ์เทศบาลนคร โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เชื่อมโยงเครือข่ายการปกครองส่วนท้องถิ่นรอบข้างและให้มีงบประมาณเพียงพอแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ทั้งปัญหาน้ำท่วม ความมั่นคง ชี้หากประชาชนขานรับจะกลายเป็น "มหานครแห่งแรกของภาคใต้"

เทศบาลนครหาดใหญ่ว่าจ้างนักวิชาการจากสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศึกษารูปแบบการบริหารมหานครหาดใหญ่ เพื่อทราบถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับสมรรถนะในการบริหารจัดการของเทศบาลนครหาดใหญ่ในปัจจุบัน ทั้งในด้านการพัฒนาองค์กร บุคลากรและนำแนวคิดในการบริหารจัดการสมัยใหม่มาใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งมุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล ผู้อำนวยการศูนย์ธรรมาภิบาลท้องถิ่น สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า หากพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการบริหารเทศบาลนครหาดใหญ่จะพบว่า หาดใหญ่เป็นเมืองชายแดนที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวของภาคใต้ตอนล่าง ที่สามารถเชื่อมโยงกับเมืองนานาชาติ โดยระดับความเจริญของพื้นที่มีสูงมากและเติบโตอย่างต่อเนื่องจนเกินกว่าการเป็นเพียงเทศบาลระดับนคร

อีกทั้งปัญหาด้านต่างๆ มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เช่น การขาดแคลนสาธารณูปโภคสาธารณูปการ การจราจร น้ำเสีย ขยะ อาชญากรรมชุมชนแออัด เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้มหานครทั้งหลายกำลังประสบอยู่ จึงเรียกได้ว่า เทศบาลนครหาดใหญ่ มีสภาพเป็นมหานครเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นมหานครประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2518 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีรูปแบบที่เหมาะสมในการบริหารพื้นที่ที่มีความเจริญเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน

โดยภายหลังจากได้ยกฐานะเป็นเทศบาลนครหาดใหญ่ในปี 2538 เป็นต้นมา พบว่าปัจจุบันมีพลเมืองมากกว่าเกณฑ์ประมาณ 3 เท่าหรือกว่า 157,000 คน ราษฎรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเฉลี่ยประมาณ 8,300 คนต่อตารางกิโลเมตร โดยมีงบประมาณเกือบ 1,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศนโยบายต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ชัดเจนถึงการสนับสนุนการปกครองตนเองของท้องถิ่นว่า ให้มีการบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษให้สอดรับกับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของพื้นที่ โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นที่มีศักยภาพและความพร้อมจัดตั้งเป็นมหานคร

ดังนั้น รูปแบบของมหานครหาดใหญ่ที่กำลังทำการศึกษานั้น ต้องมีโครงสร้างการบริหารงานที่อิสระ คล่องตัว เปิดโอกาสให้หลายภาคส่วนมีส่วนร่วม ประชาชนมีส่วนร่วมและมีรายได้พอเพียงโดยทั้งจากการเก็บภาษีและการลงทุน ซึ่งปัจจุบันที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง 10% และได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลส่วนกลางอีก 90% โดยอาศัยจุดแข็งในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยว ทั้งนี้ การศึกษานี้จะมองในมุมกว้างที่ต้องมีการบริหารพื้นที่ร่วมกันของเทศบาลรอบข้าง ไม่เฉพาะเทศบาลนครหาดใหญ่เท่านั้น

รศ.ดร.ปธาน กล่าวต่อว่า ในกระบวนการศึกษานั้นจะใช้เวลานาน 6 เดือน โดยให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคราชการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ ซึ่งจะมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยในแต่ละภาคส่วน รวมถึงการสัมมนาใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนอย่างกว้างขวาง และประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคมปีนี้ จะเสนอร่างกฎหมายให้ต่อเทศบาลนครหาดใหญ่ เพื่อเปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์และนำเข้าสภาเทศบาล ก่อนจะนำเสนอรัฐบาลกลางและประกาศใช้ต่อไป

นายพฤกษ์ พัฒโน รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ยอมรับว่าปัจจุบันการบริหารงานของเทศบาลนครหาดใหญ่มีข้อจำกัดอยู่มาก จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทันท่วงที และต้องพึ่งพางบประมาณจากส่วนกลาง ดังเช่นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ปัญหาความไม่สงบที่สืบเนื่องจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น

ดังนั้น เทศบาลนครหาดใหญ่จึงว่าจ้างให้มีการศึกษาทิศทางการพัฒนาเทศบาลนครหาดใหญ่สู่การเป็นมหานคร ด้วยศักยภาพที่ต้องการยืนด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาส่วนกลาง โดยอาศัยอำนาจและงบประมาณ โดยการนำทรัพยากรที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็นให้ข้อมูลก่อนที่จะนำไปสู่ข้อสรุป ซึ่งหากประชาชนให้การตอบรับจะทำให้เทศบาลนครหาดใหญ่ยกระดับเป็นมหานครแห่งแรกของภาคใต้ และคณะบริหารหวังที่จะผลักดันแนวคิดนี้ให้ประสบความสำเร็จ แม้ว่าการศึกษาที่ผ่านมาจะดำเนินเพียงครึ่งๆ กลางๆ เท่านั้น

ข้อมูลจาก...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: