วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สมาพันธ์ครู 3 จชต.ค้านตัด 4 อำเภอสงขลาออกพื้นที่เสี่ยง หวั่นกระทบชีวิต-สวัสดิการ


นายบุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แถลงการณ์คัดค้านการนำร่องให้ 2 อำเภอในสงขลาออกจากการเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยก่อนขยายทั้ง 4 อำเภอ แม้สถานการณ์ความไม่สงบจะเกิดขึ้นน้อยจนเกือบปกติ เหตุยังไม่มีใครสามารถการันตีได้แต่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หวั่นกระทบต่อขวัญกำลังใจ สวัสดิภาพ และสวัสดิการของข้าราชการครู ยันให้เกาะกลุ่มรับสิทธิประโยชน์เทียบเท่าใน 3 จชต.
      
       วันที่ 15 มิ.ย.55 เมื่อเวลา 13.00 น. ณ หอประชุมศรีเกียรติพัฒน์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.) สมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมข้าราชการครูใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา และ อ.สะเดา กว่า 800 คน ได้เดินทางมาการประชุมรับทราบนโยบายเรื่องขวัญกำลังใจครู 3 จชต. และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ภายหลังจากที่ออกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภ.4 ส่วนหน้า) เตรียมเสนอต่อกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในและรัฐบาลเพื่อนำเข้าสู่ ครม.ยกเลิกเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่อเนื่องจาก 3 จชต. โดยเริ่มจากพื้นที่ อ.นาทวีและ อ.จะนะ เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และได้มีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเปลี่ยนมาเป็น พ.ร.ก.ความมั่นคงชายแดนใต้
           นายบุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แถลงการณ์ว่า ปัจจุบันสมาพันธ์ฯ มีสมาชิกกว่า 30,000 คน ใน 3 จชต. และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์การทำงานภายใต้ความกดดันและไม่ปลอดภัย และขอคัดค้านการยกเลิกพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ออกจากการเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย เพราะขณะนี้ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ปกติแล้ว แต่ทว่ายังต้องเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงควรที่จะให้สิทธิประโยชน์แก่ข้าราชการครูทั้งการได้รับ สิทธิ สวัสดิการ สวัสดิภาพของครู นักเรียน และสถานศึกษาเทียบเท่ากับ 3 จชต. เพื่อให้มีขวัญกำลังใจที่ดีในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
      
       “ในวันที่ 22 มิ.ย.ตนจะประชุมกับ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชย์ แม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อนำเรื่องนี้ให้พิจารณาว่า อย่างไรเสียก็ต้องดูแลครูใน 3 จชต. และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ให้เท่าเทียมกัน ให้มีทั้งความปลอดภัย มีความก้าวหน้าในวิชาชีพเหมือนพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้การศึกษาของเยาวชนได้เดินหน้าไปพร้อมกัน ครูใน 4 อำเภอมีสภาพชีวิตที่คล้ายคลึงกับ 3 จชต. จึงต้องรวมพลังกันผลักดันและมีสิทธิมีเสียงในการสะท้อนความเดือดร้อนด้วยนายบุญสมกล่าวต่อและว่า
          ทั้งนี้ บทบาทของสมาพันธ์ครู 3 จชต. ที่ผ่านมาเป็นกลุ่มพลังหลักในการเรียกร้องและสะท้อนความเดือดร้อนของข้า ราชการครู ซึ่งหลายฝ่ายไม่เข้าใจนับตั้งแต่ปี 2547 จนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และได้รับการตอบสนองเป็นรูปธรรม อาทิ การเรียกร้องเงินเสี่ยงภัยในพื้นที่พิเศษตั้งแต่ปี 2549, การจัดสรรโควตาการเลื่อนขั้นกรณีพิเศษให้กับครู (2 ขั้น ศอ.บต.), การปรับหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะ เกณฑ์ จชต. (ปัจจุบันเป็นเกณฑ์ ว10)
      
       นอกจากนี้ยังมีการเสนอขอเพิ่มเงินเสี่ยงภัยในพื้นที่พิเศษจาก 2,500 บาทเป็น 3,500 บาท, การเรียกร้องเงิน พ.ส.ร.ให้กับครูในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ ที่พิจารณาให้กับ ผู้ที่ได้ทาการสู้รบ หรือต่อสู้ จนได้รับอันตรายหรือทาการสู้รบ หรือต่อสู้ได้ผลดี หรือปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตรากตรา เหน็ดเหนื่อย (พ.ส.ร.), การเสนิขอปรับเปลี่ยนวิธีคำนวนเงินบำนาญของ กบข. และอีกหลายข้อที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล ดังนั้น เจตนารมณ์ของสมาพันธ์ครู 3 จชต. นั้น จะดูแลเพื่อนครูใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกันกับ 3 จชต.
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: